วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จิตสาธารณะ (Public Mind)

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ : จิตสาธารณะ
สุเทพ ปาลสาร

 คำหนึ่งที่มักถูกยกขึ้นมาพูดอยู่เสมอและเป็นคำที่กำลังได้รับคำนิยมในทุกภาคส่วนทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน  โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ผู้คนนิยมความฟุ้งเฟ้อ เห็นแก่ตัว ถือเอาวัตถุนิยมเป็นปัจจัยเชิดหน้าชูตาจนลืมสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไปเสียเกือบหมด ยุคที่สิ่งแวดล้อมกำลังเป็นภัยมหันต์เพราะคนลืมความสำคัญ และก็ทำลายอย่างต่อเนื่อง ยุคโลกร้อนเพราะคนเป็นต้นเหตุ คำดังกล่าวได้แก่ คำว่า “จิตสาธารณะ” ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของคนไทย จนถูกยกขึ้นมาเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ที่สำคัญ หนึ่งในแปดประการ ตามหลักสูตรแกนกลาง การศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช ๒๕๕๑  ได้แก่ ๑) รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ๒) ซื่อสัตย์สุจริต ๓) มีวินัย ๔) ใฝ่เรียนรู้ ๕) อยู่อย่างพอเพียง ๖) มุ่งมั่นในการทำงาน ๗) รักความเป็นไทย ๘) มีจิตสาธารณะ  พอพูดถึงตรงนี้แล้ว มีคำถามว่า ความหมายหรือนิยาม ของคำว่า “จิตสาธารณะ” คืออะไรกันแน่ จากการศึกษารวบรวมก็พบว่ามีผู้ให้นิยามหรือความหมายไว้นานาทัศนะ ดังเช่น  มหาวิทยาลัยนเรศวร (2553) ได้กล่าวถึง คำว่าจิตสาธารณะในภาษาไทย ว่าเป็นศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาทศวรรษที่ผ่านมา เป็นคำที่ใช้แปลจากภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Public consciousness หรือ  public mind  หรือ public minds หรือ public service หรือ service mind  ส่วนคำแปลในภาษาไทย นอกจากใช้ว่าจิตสาธารณะแล้ว มีคำที่ใช้ในความหมายเดียวกันคำอื่นๆ คือ สำนึกสาธารณะหรือ จิตสำนึกสาธารณะหรือ จิตบริการหรือ จิตอาสา หรือ จิตสำนึกทางสังคม เป็นต้น  ความหมายของจิตสาธารณะหรือ Public consciousness มีผู้ให้ความหมายหลากหลายกันไป โดยภาพรวมอาจสรุปความหมายของ จิตสาธารณะโดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้สนใจ ได้ดังนี้  1.จิตสาธารณะคือ จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม (จิตสำนึก ในปทานุกรม ราชบัณฑิตสถาน 2538 ให้ความหมายไว้ว่า เป็นภาวะที่จิตตื่นและรู้สึกตัว สามารถตอบสนองสิ่งเร้าจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือรูป รส กลิ่น เสียง และสิ่งสัมผัสได้ การกตระหนักรู้ และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน/การคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมสัมพันธ์เป็นกลุ่มเดียวกัน 2.จิตสาธารณะ คือจิตอาสา ที่แสดงออกมาในรูปของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจเพื่อส่วนรวม โดยการแสดงออกด้วยการอาสาไม่มีใครบังคับ 3.จิตสาธารณะ คือ การสำนึกสาธารณะ ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลตระหนักรู้และคำนึงถึงประโยชน์สุขของส่วนรวมและสังคม เห็นคุณค่าของการเอาใจใส่ดูแลรักษาสิ่งต่างๆที่เป็นของส่วนรวม 4.จิตสาธารณะคือ จิตบริการที่เกี่ยวกับการคิดและการปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น เป็นการประพฤติปฏิบัติที่มุ่งความสุขของผู้อื่นที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจดีและเจตนาดี5.จิตสาธารณะคือจิตสำนึกทางสังคมที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้อธิบายว่าเป็นการรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนร่วมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีความสำนึกและยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งผิดเน้นความเรียบร้อย ประหยัด และมีความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2551) ได้ให้นิยามว่า จิตสาธารณะ หมายถึง คุณลักษณะที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมหรือสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น ชุมชน และสังคม ด้วยความเต็มใจ กระตือรือร้น โดยไม่หวังผลตอบแทน ผู้ที่มีจิตสาธารณะ คือ ผู้ที่มีลักษณะเป็นผู้ให้และช่วยเหลือผู้อื่น แบ่งปันความสุขส่วนตนเพื่อทำประโยชน์แก่ส่วนรวม เข้าใจ เห็นใจผู้ที่มีความเดือดร้อน อาสาช่วยเหลือสังคมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยแรงกาย สติปัญญา ลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา หรือร่วมสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้เกิดในชุมชน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน  นอกจากนี้ ยังได้กำหนด ตัวชี้วัดคุณลักษณะของบุคคลที่มีจิตสาธารณะว่าประกอบด้วย ลักษณะคือ เป็นผู้ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเต็มใจโดยไม่หวังผลตอบแทนและ เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ชุมชน และสังคม   จันทิรา  ธนสงวนวงศ์ (มปป.) ให้ความหมาย จิตสารธารณะ (Public mind) ว่า หมายถึง จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม เพราะคำว่าสาธารณะคือ สิ่งที่มิได้เป็นของผู้หนึ่งผู้ใด จิตสาธารณะจึงเป็นความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของในสิ่งทีเป็นสาธารณะ ในสิทธิและหน้าที่ที่จะดูแลและบำรุงรักษาร่วมกัน เช่น การช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการไม่ทิ้ง ขยะลงในแหล่งน้ำ การดูแลรักษาสาธารณะสมบัติ เช่นโทรศัพท์สาธารณะ หลอดไฟที่ให้แสงสว่างตามถนนหนทาง แม้แต่การประหยัดน้ำประปา หรือไฟฟ้า ที่เป็นของส่วนรวม โดยให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าตลอดจนช่วยดูแลรักษาให้ความช่วยเหลือผู้ทุกข์ได้ยาก หรือผู้ที่ร้องขอความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ ตลอดจนร่วมมือกระทำเพื่อให้เกิดปัญหาหรือช่วยกันแก้ปัญหา แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนร่วม  ราชบัณฑิตยสถาน (มปป)  ได้ให้ความหมายของจิตสำนึกทางสังคม หรือจิตสาธารณะหรือจิตสำนึกสาธารณะ (Public Consciousness) ว่า คือ การตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน หรือการคำนึงถึงผู้อื่นที่ร่วมสัมพันธ์เป็นกลุ่มเดียวกัน   นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(มปป.) ได้ให้ความหมายว่า การรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีความสำนึกและยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจริยธรรมที่ดีงาม ละอายต่อสิ่งผิด เน้นความเรียบร้อย ประหยัดและมีความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ นวรินทร์ ตาก้อนทอง (มปป.) ให้ความหมายของจิตสาธารณะว่า คือ คุณลักษณะทางจิตใจของบุคคลเกี่ยวกับการมองเห็นคุณค่าหรือการให้คุณค่าแก่การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมรวมทั้งสิ่งต่างๆ ที่เป็นสาธารณะที่ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นเจ้าของหรือเป็นสิ่งที่คนในสังคมเป็นเจ้าของร่วมกัน
ลักษณะ ผู้มีจิตสาธารณะ  PUBLIC  MIND
Useful  เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสาธารณะต่อสังคม  ไม่นิ่งดูดาย อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ  แม้เพียงเล็กน้อยก็จะทำ (อะไรที่ดีงามก็ให้ลงมือทันที แม้สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็ตาม)

Unselfish  ไม่เห็นแก่ตัว (เห็นแก่ส่วนรวม) ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่คอรัปชั่น ไม่เอาเปรียบผู้อื่นและไม่ให้ผู้อื่นเอาเปรียบเช่นกัน  เคารพสิทธิเสรีภาพผู้อื่น
Understand  เข้าใจผู้อื่น (Empathy) ไม่ทับถมผู้อื่น ไม่ซ้ำเติมผู้อื่น
Broad Mind  มีจิตที่กว้างใหญ่ เปิดกว้าง ไม่คับแคบ  รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  รับฟังข้อมูล ข่าวสารใหม่ๆ ที่แตกต่างจากคนที่เคยรู้เคยมีมา  แสวงหาความรู้ใหม่อยู่เสมอ
 Be Proactive คาดการณ์ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น  และหาทางป้องกันปัญหาเหล่านั้นไม่ให้เกิดขึ้นหรือลดความรุนแรงของปัญหานั้น ๆ
กล่าวโดยสรุป จิตสาธารณะ (Public mind) หมายถึง จิตที่คิดสร้างสรรค์ คิดดี ทำดี เพื่อส่วนรวม เพื่อสาธารณะโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ
สำหรับสถานศึกษา การวัดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้านจิตสาธารณะนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2551)  ได้กล่าวถึง พฤติกรรมนักเรียนที่มีจิตสาธารณะว่าควรมีลักษณะดังนี้ คือ  . จะต้องช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเต็มใจและพึงพอใจ โดยนักเรียนจะต้องแสดงพฤติกรรมบ่งชี้  ดังนี้ ได้แก่ ๑.๑ ช่วยพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูทำงานด้วยความเต็มใจ  .๒ อาสาทำงานให้ผู้อื่นด้วยกำลังกายกำลังใจ และกำลังสติปัญญาด้วยความสมัครใจ  .๓ แบ่งปันสิ่งของ ทรัพย์สินและอื่นๆ และช่วยแก้ปัญหาหรือสร้างความสุขให้กับผู้อื่น  และ ๒.ผู้เรียนจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนชุมชน และสังคม โดยนักเรียนจะต้องแสดงพฤติกรรมบ่งชี้  ดังนี้ คือ ๒.๑ ดูแล รักษาสาธารณสมบัติและสิ่งแวดล้อมด้วยความเต็มใจ ๒.๒ เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ชุมชนและสังคม ๒.๓ เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาหรือร่วมสร้างสิ่งที่ดีงามของส่วนรวมตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความกระตือรือร้น ส่วนวิธีการพัฒนา เพื่อให้เกิดลักษณะของผู้มีจิตสาธารณะ นั้นสามารถดำเนินการได้โดย การสอนแทรกใน กลุ่มสาระการเรียนรู้  สอดแทรกในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  หรือในโครงการ    หรือประเมินจาก กิจวัตรประจำวัน เป็นต้น

แหล่งอ้างอิง
จันทิรา ธนสงวนวงษ์ (มปป) . วิชาชีวิตและวัฒนธรรมไทย หน่วยที่ 8 จิตสาธารณะ .ค้นเมื่อ 1
                   กุมภาพันธ์
2554 จาก
http://mos.e-tech.ac.th/mdec/learning/s1301/unit08.htm
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2551).  แนวทางการพัฒนา การวัดและประเมิน
                   คุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช
2551
                  
ค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2554 จาก http://www.curriculum51.net/
                   upload/measurmet%20Guide.pdf
จิตสาธารณะ.
  ค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2554 จาก http://jarunee009.blogspot.com/2009/11/blog-
                   post.html

มหาวิทยาลัยนเรศวร. (2553).  จิตสาธารณะ.  ค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2554   จาก
                   
http://www.academic.nu.ac.th/content_view.php?n_id=44&img=&action=view
ณฐวัฒน์ ล่องทอง .  (2553). จิตสาธารณะ รายวิชาทักษะชีวิต (001173). ค้นเมื่อ 1  กุมภาพันธ์ 2554
                  จาก www.acad.nu.ac.th/.../share/1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น